“เกี๊ยว มังกรหยก” เพราะเกิดเป็นผู้หญิง! ทำอย่างไรให้แกร่งกว่าผู้ชาย
เกี๊ยว กัญญารัตน์ เกรียงไกรรัตน์ “ผู้หญิง” กับการเป็น “ผู้นำ” คณะสิงโต ทุกครั้งที่ได้รับเสียงปรบมือและคำชื่นชมจากคนดู นั่นคือ “ความสุข”แม้เคยไม่ได้รับการยอมรับ แต่ก็มุ่งมั่นที่จะพิสูจน์ตัวเอง จนได้กลายเป็นเจ้าของคณะสิงโตอย่างเต็มภาคภูมิ
เรื่องราวต้อนรับ “เทศกาลตรุษจีน” กับเรื่องราวของ “เกี๊ยว กัญญารัตน์ เกรียงไกรรัตน์” เจ้าของคณะเชิดสิงโต ผู้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ จากความไม่เชื่อมั่นจนได้รับการยอมรับจากทุกคนในคณะ
“คุณเกี๊ยว กัญญารัตน์ เกรียงไกรรัตน์” เจ๊ใหญ่แห่งคณะมังกรหยกสามพราน ที่นำทับคณะมังกรกลับมาผงาดบนฟากฟ้าอีกครั้ง
ลู.กสาวคนโต และเป็นผู้หญิงคนเดียวในครอบครัวของคณะสิงโต 100 ปี ที่ไม่ได้เป็นความหวังใดให้ครอบครัว จนวันหนึ่งที่คุณพ่อได้จากไป จากคณะสิงโตผู้ยิ่งใหญ่ ถึงวันที่ต้องจากลา
จากสาวออฟฟิศที่หลงใหลในงานแฟชั่น จนถึงจุดวันที่ต้องเปลี่ยน ตัดสินใจลาออกจากงานที่รักมาสานต่อลมหายใจของมังกรให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ท่ามกลางเหล่าชายฉกรรจ์ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อกว่า 60 ชีวิต ที่ไม่ได้เชื่อมั่นในฝีมือ การปัดฝุ่นครั้งนี้จึงไม่ได้ง่าย คุณเกี๊ยวต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการพิสูจน์ฝีมือให้ได้รับการยอมรับ
คุณเกี๊ยวได้ใช้วิชาแฟชั่นที่เชี่ยวชาญ มาผสานให้เกิดเป็นโชว์ที่ทันสมัย จนคณะสิงโตมังกรหยกได้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง ได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในทีม และได้ความเชื่อมั่นจากลูกค้า
คำว่าผู้หญิงที่หลายคนอาจจะมองว่าไม่มีวันที่จะเป็นผู้นำได้หรอก “เป็นผู้หญิงจะแข็งแกร่งกว่าผู้ชายได้อย่างไร” วันนี้คุณเกี๊ยวได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผู้หญิงก็ไม่ได้ด้อยกว่าผู้ชาย เพียงแค่ตั้งมั่น และตั้งใจ คำสบประมาทอะไรก็ต้องพ่ายไปในที่สุด !!
คณะสิงโตมังกรหยกได้เชิดดังกังวานสู่ทายาทรุ่นสามอย่างเกี๊ยว หญิงสาวที่เติบโตมาพร้อมกับเสียงกลอง หัวสิงโต และการออกงานมงคลทุกครั้ง ประหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เกี๊ยวคลุกคลีกับคณะเชิดสิงโตตั้งแต่ยังเ.ด็.ก
เธอตามเตี่ยไปมีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในโชว์ด้วยทุกครั้ง ใบหน้าเปื้อนยิ้มและความสดใสของเด็กหญิงที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แลกมากับซองอั่งเปาเป็นรางวัลติดตัวกลับมามาทุกครั้ง สิ่งนี้ทำให้หญิงสาวรู้สึกดีและผูกพันกับคณะเชิดสิงโตอย่างแนบแน่น จนสานต่อมาถึงทุกวันนี้
หลังจากเกี๊ยวเรียนจบคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เธอได้ทำงานตำแหน่ง Visual Merchandiser ให้แบรนด์ดังต่าง ๆ อยู่พักใหญ่
ใช้ชีวิตเดินทางตามความฝันจนมาถึงจุดหนึ่ง จุดที่รู้สึกอยากกลับบ้าน อยากมาอยู่กับแม่ เมื่อได้กลับบ้าน ภาพบรรยากาศการเชิดสิงโตในความทรงจำจึงฉายชัดเจนขึ้นอีกครั้ง
เธอเข้ามาปรับปรุงคณะสิงโต 3 เรื่องใหญ่ ๆ แรกสุด เกี๊ยวคิดว่าสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ คือต้องก้าวให้เท่าทันยุคสมัย สิงโตมังกรหยกมีความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ
เธอยังคงสานต่อพิธีดั้งเดิม พร้อมนำความมงคลนี้มาขยายกรอบให้กว้างขึ้น ปรับลุคของคณะ พัฒนาทั้งคน สิ่งของ
และแนวคิดให้เข้ากับกระแสสังคม อย่างในสังคมปัจจุบัน กระแสโซเชียลมีอิทธิพลกับผู้คนเป็นอย่างมาก เกี๊ยวจึงจับจุดนี้มาพลิกให้เข้ากับคณะสิงโตของเธอ
“ตอนนั้นเกี๊ยวทำโชว์สิงโตโซเชียล ช่วงนั้นคนชอบก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ เกี๊ยวก็เลยครีเอตโดยการให้แป๊ะซิ้มมาเป็นตัวแทนคนแบบเรา
ก้มหน้าเล่นไอโฟนอันใหญ่ ๆ สื่อถึงมือถือ สิงโตก็ไปเขี่ย ๆ เรียกก็ไม่สนใจ ปกติแป๊ะซิ้มต้องเล่นคู่กันกับสิงโต พาสิงโตเดินไปตรงนั้นตรงนี้ แต่อันนี้แตกต่าง”
ถัดมา เกี๊ยวใช้ทักษะและความรักในศาสตร์การออกแบบมาปรับให้เข้ากับสิงโต โดยการออกแบบหัว หาง และตัดเย็บชุดเอง ปรับให้น่ารักและมีสตอรี่หลากหลายขึ้น เอกลักษณ์เหล่านี้ถ้าเห็นแล้วรู้เลยว่านี่คือมังกรหยก ชุดและหางสิงโตตัดเย็บพิเศษจากผ้าไหมจีน ประดับด้วยคริสตัลแวววาวหลากสี หัวสิงโตมีหลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า
ถ้าอยากได้ความน่ารักเป็นซิกเนเจอร์ คือ สิงโตน้องเป็ดฟ้า สิงโตขาวเงิน ถ้าเน้นความมั่งคั่งร่ำรวย นำโชคลาภมาให้ เสริมสิริมงคล สมปรารถนา หรือให้มีเงินทองเต็มบ้านและความเจริญรุ่งเรือง เชิดสิงโตเจ็ดสีจักรพรรดินีเขาหงส์
แต่ถ้าอยากได้ความดุดัน น่าเกรงขาม แฝงด้วยความหมายมงคล ซื่อสัตย์ คุณธรรม ขับไล่สิ่งไม่ดี เสริมอำนาจวาสนา ความเป็นมงคลให้แก่สถานที่นั้น ๆ และผู้พบเห็น ก็ต้องหัวสิงโตเทพเจ้ากวนอูปางออกศึกธงมังกร
นอกจากนี้ยังมี สิงโตแดงเขานก สิงโตทองแดงเพลิง สิงโตทองจักรพรรดิเขามังกร และหัวสิงโตใหม่ ๆ ตามวาระโอกาส ติดตามได้ที่เพจ มังกรหยก สามพราน
อีกหนึ่งข้อ เมื่อก่อนสิงโตมังกรเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึง ไม่ใช่เรื่องสำหรับทุกคน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเพณีตรุษจีนที่หนึ่งปีมีแค่ครั้งเดียว แต่ในตอนนี้เธอพยายามทำให้สิงโตกลายมาเป็นหนึ่งในการแสดง มาเอนเตอร์เทนผู้ชม มาเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ให้ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น
“นี่คือประเด็นหลักของเราเลย เราต้องทำให้คนอยากเข้าใกล้สิงโต ไม่ต้องกลัว และมีส่วนร่วมในแต่ละโชว์ด้วย”
“เตี่ยสอนอยู่เสมอเรื่องคุณธรรม บอกว่าคุณธรรมคือ ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อลูกน้อง ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า”
‘ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง’ ในงานที่ทำอยู่ ต้องทุ่มเทและตั้งใจทุกวินาทีในการทำงาน ฝึกซ้อมจนเชี่ยวชาญ ให้งานที่ออกมาสมบูรณ์แบบหรือผิดพลาดน้อยที่สุด
ทุกเส้นทางของความสำเร็จ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ในช่วงแรกที่เริ่มเปลี่ยนรูปแบบโชว์ การทำให้ทีมรวมถึงคนทั่วไปเข้าใจเป็นเรื่องยากมาก เพราะภาพเดิมของการเชิดสิงโต
คือตามงานไหว้เจ้า วันตรุษจีน หรือพิธีมงคลเท่านั้น การจะนำสิงโตมาเต้นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง บ้างก็ว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ บ้างก็ว่า ‘ไม่เหมาะสม’ และที่สำคัญ ยังไม่เคยมีใครทำ
ในวันที่เกี๊ยวตัดสินใจจะนำสิงโตมาเต้น มีเพียงแม่และน้องชายที่เชื่อมั่นและสนับสนุน ความใหม่นี้สร้างความไม่เข้าใจให้กับคนในทีม ด้วยความเป็นผู้หญิง ข้อจำกัดหลายอย่างจึงขัดเธอไว้ ทำให้เธอไม่เคยเชิด ไม่เคยตีกลอง ไม่เคยขึ้นกระบอกมาก่อน
นั่นหมายความว่าทายาทรุ่นสามคนนี้ต้องเริ่มเรียนรู้ฝึกฝนนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด เกี๊ยวจึงต้องใช้เวลานั้นพิสูจน์ตัวเอง เลือกเพลงเอง แกะท่าเต้นเอง ฝึกซ้อมเองร่วมกับแนวร่วมขนาดย่อมของเด็กรุ่นใหม่
“คำชมของลูกค้า รอยยิ้มของคนดู และเสียงปรบมือ คือกำลังใจ” 3 สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้เกี๊ยวไม่เคยหยุดและพร้อมจะเดินหน้าต่อ แม้เจอวิกฤตหนักก็ไม่ยอมแพ้ เธอยอมรับว่าในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา รู้สึกท้อบ้างจนเกือบจะถอดใจ
แต่มีแรงฮึดกลับมาได้โดยการสร้างพลังงานดี ๆ ให้ตัวเองและทีม ใช้เวลาว่างในยามวิกฤตฝึกซ้อมและเตรียมโชว์ใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมรับทุกโชว์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่โอกาสมาถึง
คณะมังกรหยกเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจเกี๊ยว เธอได้รับพลังงานดี ๆ ทุกครั้งที่ได้ออกไปเชิด ไปเต้น ไปเป็นส่วนหนึ่งกับสิงโต และเธอเชื่อว่ามังกรหยกไม่มีทางตาย ถ้าตราบใดที่คนเราไม่หยุดอยู่กับที่ มีความคิดเปิดกว้าง และพร้อมก้าวทันความเป็นไปของสังคม
ข้อมูลและรูปภาพ: มังกรหยก สามพราน, อายุน้อยร้อยล้าน, mgronline, readthecloud.co, springnews.co.th