ฝรั่งผู้ตกหลุมรักอาหารไทย
มาร์ก วีนส์ (Mark Wiens) คือนักเดินทาง นักเขียน บล็อกเกอร์ ยูทูเบอร์ และเหนือสิ่งอื่นใดเขาเป็นนักกินผู้ตกหลุมรักอาหารและวัฒนธรรมการกิน โดยเฉพาะอาหารไทย!
มาร์กเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Migrationology.com และ Eatingthaifood.com ที่มีผู้อ่านจากทั่วโลก นอกจากนี้เขายังมีผู้ติดตามใน YouTube 4 ล้านคน ในเพจเฟซบุ๊ก 1.2 ล้านคน และในอินสตาแกรม 7 แสนคน
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมามาร์กทำคลิปวิดีโอแนะนำอาหารไทยอวดชาวโลกไปหลายร้อยคลิป ต่อให้ไม่ใช่ Food Lover แต่เราเชื่อว่าถ้าคุณเล่นอินเทอร์เน็ต คุณจะต้องเคยเห็นคลิปวิดีโอของมาร์กพาไปตะลุยกินอาหารที่แค่เห็นก็น้ำลายสอแล้วแน่ๆ เพราะแต่ละคลิปมียอดวิวหลักแสนไปจนถึงหลายล้าน
คนไทยอย่างเราดูคลิปของมาร์กไป ก็ท้องร้องไปอย่างภาคภูมิใจไม่ใช่แค่อาหารไทย แต่มาร์กสนใจเรื่องวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในอาหาร ทำให้เขาออกเดินทางไปค้นหา สัมผัส และกินอาหารแต่ละจานในแต่ละพื้นที่ของโลก
มาร์กเริ่มต้นเล่าเรื่องราวการกินและการเดินทางของเขาลงบนอินเทอร์เน็ตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันคือแพสชัน และตั้งเป้าหมายไว้ว่าแพสชันของเขาจะต้องเติบโตงอกเงยเป็นเงินที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตได้
ทุกวันนี้มาร์กมีอาชีพเป็น Full-time Travel Eater ที่มีรายได้จากการทำสิ่งที่เขารักและนี่คือบทสนทนากับนักกินผู้โด่งดังในร้านอาหารรสชาติจัดจ้านแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่จะพาคุณไปทำความรู้จักตัวตนและวิธีคิดเบื้องหลังความสำเร็จของเขาคุณตกหลุมรักการกินตั้งแต่ตอนไหน
ตั้งแต่เกิดเลยครับ แม่ผมเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่ทำอาหารเก่งมาก ผมเลยได้กินทั้งอาหารอเมริกันและอาหารเอเชียนกลิ่นอายฮาวาย (แม่ผมเป็นคนรัฐฮาวาย) มาตั้งแต่จำความได้
คุณออกเดินทางท่องโลกตั้งแต่ยังเด็กเลย ช่วยเล่าความทรงจำนั้นให้ฟังหน่อยครอบครัวของเราอาศัยที่เมืองฟีนิกซ์ (Phoenix) รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา จนผมอายุ 5 ขวบเราก็ย้ายไปอยู่ที่เมืองชื่ออัลแบร์ตวิลล์ (Albertville)
ในประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 1 ปี เพราะพ่อแม่ผมทำงานกับองค์กรมิชชันนารี และจะต้องเดินทางไปทำงานที่ประเทศคองโกซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในภาษาหลัก
พวกท่านจึงตัดสินใจมาอยู่ที่เมืองเล็กๆ กลางหุบเขาแห่งนี้ก่อนเพื่อเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศส ตอนนั้นผมยังเด็กมากเลยจำอะไรแทบไม่ได้เลย
จากนั้นเราก็ย้ายไปที่ประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา เมืองที่เราอยู่เล็กมากขนาดที่เรียกว่าหมู่บ้านก็ยังได้และอยู่กลางป่า ผมมีความทรงจำที่น่าทึ่งเกี่ยวกับอาหารที่นั่นเยอะมาก (หัวเราะ)
เติบโตขึ้นในเมือง (หมู่บ้าน) กลางป่า ประสบการณ์อาหารอะไรบ้างที่คุณจำได้ไม่ลืมเพราะอยู่กลางป่า เราเลยหาซื้อได้เฉพาะวัตถุดิบท้องถิ่นสดๆ เท่านั้น พวกอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋องไม่มีขายที่นั่น
จริงๆ แล้วไม่มีตลาดด้วยซ้ำ คนท้องถิ่นจะหอบข้าวของมาขายให้ถึงบ้าน ลักษณะคล้ายรถกระบะของสดที่ตระเวนขายไปตามหมู่บ้านในกรุงเทพฯ ต่างกันตรงที่ที่คองโกเขาขายจระเข้กันด้วย
ผมจำได้แม่นเลย ครั้งหนึ่งแม่ผมซื้อจระเข้ทั้งตัวมาไว้สำหรับทำอาหาร 1 เดือน โดยใช้แทบจะทุกส่วนของจระเข้ ความเจ๋งของเนื้อจระเข้คือแต่ละส่วนมีรสชาติต่างกันอย่างสิ้นเชิง บางส่วนรสชาติคล้ายไก่ บางส่วนรสชาติคล้ายปลา และบางส่วนรสชาติคล้ายเนื้อแดง
ตลอดเดือนนั้นครอบครัวเราเลยได้กินอาหารจีนหลายเมนูที่ทำจากเนื้อจระเข้ โอ้! มีครั้งหนึ่งแม่ผมทำสปาเกตตี้จระเข้มีตบอลด้วย (หัวเราะ)
วัตถุดิบอีกอย่างที่ฮิตมากๆ ที่คองโกคือด้วงมะพร้าวแบบที่คนไทยนิยมกินกัน ถือเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดีที่อร่อยมากเมื่องานประจำไม่ใช่เส้นทางที่คุณอยากเดิน คุณค้นหาเส้นทางของตัวเองพบได้ยังไง
ระหว่างที่เป็นครู ผมเขียนเรื่องราวต่างๆ ลงไปใน Migrationology.com เยอะมาก เรียกว่าเป็นช่วงฝึกเขียนเลยก็ว่าได้ และผมตั้งเป้าหมายให้ตัวเองไว้ว่าจะต้องหาเงินจากการทำงานบนอินเทอร์เน็ตให้ได้ เพราะผมรู้แล้วว่าความสุขของผมคืออะไร
Migrationology.com โด่งดัง เป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้คุณได้ยังไงเวลาที่เขียนลงเว็บไซต์ ผมจะคำนึงถึง 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกัน ส่วนแรกคือเนื้อหาที่เป็นมุมมอง ความคิดเห็น ประสบการณ์ ของผมที่มีต่อสิ่งนั้นๆ
ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่จับต้องได้ อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุด เช่น ต้องขึ้นรถประจำทางสายอะไร ลงที่ป้ายไหน มีจุดสังเกตตรงไหนบ้าง รวมถึงทิปส์ที่เป็นประโยชน์แบบเพื่อนบอกต่อให้เพื่อนฟัง การเขียนของผมมันเลยออกมาคล้ายๆ สำนวนพูด เหมือนพูดรัวออกมาแล้วเขียนตาม
ส่วนที่ 2 ท้าทายมากในความคิดของผม นั่นคือการเขียนให้เป็นไปตามหลักของ SEO ทุกวันนี้ SEO ละเอียดและซับซ้อนขึ้นมาก เมื่อ 10 ปีที่แล้ว SEO เป็นเรื่องของคีย์เวิร์ดเสียส่วนใหญ่
ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าคนจะเสิร์ชพบ ทุกบทความในเว็บไซต์ของผมจึงอ้างอิงคีย์เวิร์ดตาม SEO แทบจะทั้งหมด ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องความสำคัญของ SEO นัก ผมเองก็หาความรู้เรื่องนี้เพิ่มเติมจากบล็อกเกอร์ชาวต่างชาติบนอินเทอร์เน็ตเหมือนกัน
นอกจากรูปแบบและวิธีการนำเสนอคอนเทนต์ที่จับต้องได้ ทำให้เข้าถึงคนส่วนใหญ่ง่าย ผมคิดว่าเพราะเว็บไซต์ของผมอยู่ใน High Ranking ของ Google
สมมติว่ามีคนค้นหาคำว่า ‘อาหารไทย’ เขาจะพบเว็บไซต์ของผมบนหน้าแรกๆ ของการค้นหา ซึ่งการที่เว็บจะแสดงอยู่บนหน้าแรกๆ ของการค้นหาได้ ต้องมาจากการทำ SEO ที่เกี่ยวโยงกับคีย์เวิร์ด
‘อาหารไทย’ทุกวันนี้อันดับบนหน้าค้นหาของ Google และ Search Engine อื่นๆ มีความสำคัญมาก เพราะการที่เว็บไซต์คุณอยู่อันดับแรกกับอันดับที่ 5 บนหน้าค้นหา ย่อมทำให้จำนวนคนที่คลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ต่างกันมหาศาล เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะคลิกเข้าไปดูแค่ 1 – 2 เว็บไซต์แรกเท่านั้น
เมื่อคนเข้ามาอ่านเว็บไซต์มากขึ้น Traffic บนเว็บไซต์ก็มากพอที่ผมจะสามารถขาย Banner โฆษณาบนเว็บไซต์ได้
จากนั้นช่วงที่หมดสัญญาการทำงานประจำเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ผมก็ออก e-Book ชื่อ The Eating Thai Food Guide ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเพราะถือเป็นโปรดักต์ชิ้นแรกที่สามารถสร้างเงินให้ผมได้อย่างจริงๆ จังๆ นอกเหนือจากโฆษณา
ข้อดีของ e-Book คือมันไม่มีต้นทุนอะไรเลย ไม่มีค่าตีพิมพ์ ไม่มีค่ากระดาษ ไม่มีค่าขนส่ง คุณสามารถขายซ้ำไปได้เรื่อยๆ แทบจะเป็นกำไร 100 เปอร์เซ็นต์เลยก็ว่าได้ ไม่นับต้นทุนเวลาของตัวผมเองนะ (หัวเราะ)
ผมใช้เวลารวบรวมข้อมูลและเรียนรู้เรื่องอาหารไทยด้วยตัวเอง 2 – 3 ปี ตั้งแต่วันแรกที่ผมมาถึงประเทศไทย ก่อนจะกลายมาเป็น e-Book เล่มนี้ทำไม ‘ไม่เผ็ดไม่กิน’ ถึงเป็นสโลแกนประจำตัวคุณได้
ตอนที่ผมย้ายมาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ ผมอยากกินอาหารไทยให้หลากหลายที่สุด ผมจึงไปกินอาหารเที่ยงที่ร้านอาหารตามสั่งร้านเดิมทุกวัน และเปลี่ยนเมนูที่สั่งในแต่ละวันให้ไม่ซ้ำกัน ผัดกะเพรา ผัดผงกะหรี่ ผัดพริกแกง ผัดน้ำพริกเผา ผัดพริกหยวก ผัดกะปิ ผัดน้ำมันหอย และอีกเป็นร้อยๆ เมนู มันน่าทึ่งมากที่อาหารไทยสามารถพลิกแพลงไปได้หลากหลายขนาดนี้
ทุกเมนูที่สั่ง ผมจะบอกเจ้าของร้านว่า ‘เอาเผ็ดมากๆ ครับ’ (หัวเราะ) จนเธอจำผมได้ หลังจากนั้น ทุกครั้งไม่ว่าผมจะสั่งเมนูอะไร เธอจะต่อท้ายให้ผมทันทีเวลาตะโกนไปสั่งพ่อครัวว่า ‘ไม่เผ็ดไม่กิน’
มันเป็นวลีที่เท่มาก (หัวเราะ) จนผมเอามาใช้เป็นเหมือนสโลแกนของตัวเองไปเลย